ประธานบริษัท Giving Forward

พลิกชีวิตเพราะ "คิดเป็น" สมคิด ลวางกูร


ใครจะเชื่อว่าผู้ชายมากความสามารถ เป็นทั้งนักคิด นักเขียน นักการตลาด มือฉมัง และเจ้าของสำนักพิมพ์คนคิดดี ที่มียอดขายถล่มทลาย อย่าง ‘สมคิด ลวางกูร’คนนี้ จะมีชีวิตที่พลิกผัน ขึ้นสูงลงสุดอยู่หลายครั้งหลายครา ชนิดที่เรียกว่า บทจะขึ้นก็มีทั้งหน้าที่การงาน ชื่อเสียง เงินทองหลั่งไหลเข้ามาจนนับไม่หวาดไม่ไหว แต่บทจะลงก็ถึงขั้นไม่มีจะกิน สิ้นเนื้อประดาตัว เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเขา??
       
       • ตั้งเป้า 1 ล้าน..
       ฝันแรกของเด็กวัด

       
       สมคิดเกิดมาในครอบครัวยากจน ไม่มีพ่อ มีแต่แม่ ด้วยความที่แม่ต้องทำมาหากิน จึงนำเขาไปฝากกับหลวงตาที่วัดตั้งแต่เล็กๆ อาศัยข้าววัดประทังชีวิต มีกินบ้างไม่มีกินบ้าง บางครั้งอดถึงขั้นต้องแย่งสุนัขกิน แต่ด้วยความยากลำบากนี่เอง ที่เป็นแรงผลักดันให้เขาขวนขวายใฝ่รู้และสู้ทนทำงานทุกอย่าง เพื่อสร้างชีวิตที่ดีกว่า ด้วยปรัชญาที่ว่า ‘อยากสำเร็จ ต้องมีเป้าหมาย’
       
       “คือด้วยความที่เด็กๆ ผมลำบากมาก ต้องใช้คำว่าชีวิตมันทรมาน เป็นเด็กวัดบ้านนอก หลวงพ่อท่านก็บิณฑบาตได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่ได้มีข้าวกินทุกมื้อ เสื้อผ้าก็ไม่ค่อยมีใส่ เวลาหน้าหนาวมันหนาวจนปวดกระดูกเลย ทำงานรับจ้างทุกอย่าง ก็คิดว่าเอ.. จะหนีชีวิตที่ทุกข์ทรมานแบบนี้ได้ยังไง

       
       ผมก็ไปถามหลวงพ่อว่า ถ้าอยากประสบความสำเร็จต้องทำยังไง ท่านก็บอกว่าต้องฉลาด ถ้าอยากฉลาดก็ต้องอ่านหนังสือเยอะๆ ยังดีว่าได้เรียนพออ่านออกเขียนได้ ผมเจออะไรก็อ่านหมด ก็ไปเจอข้อคิดของ ‘เดล คาร์เนกี้’ เขาบอกว่าอยากประสบความสำเร็จต้องมีเป้าหมายในชีวิต ผมก็เลยเริ่มตั้งเป้าหมายว่า อยากมีเงิน 1 ล้าน ภายในอายุ 25 ตอนนั้นอายุ 11 ก็ไปชกมวย เพราะเป็นอาชีพเดียวที่คนไม่มีความรู้ จะสามารถหาเงินได้เยอะๆ” สมคิดเล่าถึงแรงบันดาลใจ ที่ทำให้เขามุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต
       
       ช่วงนั้นเขาเรียนไปด้วย ชกมวยไปด้วย ชกอยู่หลายปี แต่เมื่อแม่รู้เรื่องก็ขอให้เลิก เพราะไม่อยากให้ลูกต้องทนเจ็บตัว สมคิดจึงไปทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหาร จากนั้นแม่ก็พาไปฝากงานเป็นเด็กเสิร์ฟในอาบอบนวด เช้าไปเรียน กลางคืน ทำงาน รายได้ดี เนื่องจากได้ทิปเยอะ และที่นี่เองที่ทำให้เขาต้องประสบกับ ‘หายนะ’ ครั้งแรกในชีวิต เพราะหลงไปกับอบายมุข ทั้งเหล้า ผู้หญิง การพนัน จนกลายเป็นคนติดเหล้า เขาพยายามเลิกอยู่ 3 ปี แต่ไม่สำเร็จ เพราะยังอยู่ในสังคมเดิมๆ
       
       สมคิดจึงตัดสินใจสมัครเป็นทหารเกณฑ์รับใช้ชาติ จากบทเรียนในหายนะ ครั้งแรกนั้น ทำให้เขารู้แล้วว่า อบายมุขทำให้ชีวิตตกต่ำ เขาจึงปวารณาตัวว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขอีกเด็ดขาด และต้องมีวินัยในตัวเอง ไม่เช่นนั้นเขาก็จะไปไม่ถึงฝั
       
       หลังรับใช้ชาติอยู่พักใหญ่ สมคิดก็ได้เข้าทำงานในแผนกครัวการบินของการบินไทย จากนั้นก็ย้ายไปอยู่สายการบินสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินมีระบบการบริหารงานที่ดีที่สุดในโลก เขาใช้เวลา 6 ปีในต่างแดน อดทนทำงานทุกอย่างเพื่อไต่เต้าจากพนักงานล้างห้องน้ำ ขึ้นเป็นระดับบริหารของสายการบิน
       

       “6 ปีที่อยู่กับสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ ผมใช้เงินน้อยมาก เพราะบริษัทมีสวัสดิการดีมาก ที่พัก อาหารการกิน ท่องเที่ยว จ่ายให้หมด เลยไม่ต้องใช้เงิน อายุครบ 25 ผมมีเงิน สดในธนาคาร ครบ 1 ล้านบาทพอดี แถมด้วยบ้านอีก 1 หลัง รถยนต์ 1 คัน ซึ่งถือว่าเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
       

       ช่วงนั้นทนคิด ถึงบ้านไม่ไหว แล้วก็อยากกลับมาขอแฟนแต่งงานตามที่สัญญากันไว้ จึงลาออก แต่ปรากฏว่า พอกลับมาเมืองไทย แม่แฟนบอกว่า ยังไม่อยากให้แต่งกันตอนนี้ เพราะยังเด็กอยู่ ผมผิดหวังมาก รับไม่ได้กับคำปฏิเสธ เพราะตอนนั้นรู้สึกว่า เฮ้ย..เราไม่เคยล้มเหลว ถ้าตั้งใจแล้วไม่มีอะไรที่ไม่สำเร็จ มันเลยเคว้งไปหมด เบื่อชีวิต เลยหนีเข้าป่า เป็นอย่างนี้อยู่ 3 ปี จนเงินหมด ซึ่งต้องถือว่าช่วงนั้นเป็นหายนะครั้งที่ 2 ของชีวิต เพราะว่าเราคิดไม่เป็น อีโก้มันบังตา พอคิดได้ก็เลยกลับมาตั้งเป้าหมายในชีวิตอีกครั้ง และเป็นเป้าหมายที่ใหญ่กว่าเดิม คือตั้งเป้าว่าจะต้องมีเงิน 10 ล้านให้ได้” สมคิดเล่าอย่างออกรสชาติ
       

       • ชีวิตใหม่
       หลังหายนะครั้งที่ 2

       
       หลังจากนั้นสมคิดได้ใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมจากการบริหารสายการบินสแกนดิเนเวียน มาเป็นจุดขายในการรับจ้างบริหารงานให้แก่บริษัทต่างๆที่กำลังประสบปัญหา ซึ่งผลงานจากการเพิ่มยอดขายปีละ 25 ล้าน เป็น 100 กว่าล้าน จากเดือนละ 13 ล้าน เป็นเดือนละ 75 ล้าน ทำให้สมคิดมีเงินเดือนเกือบแสน ในขณะที่อายุเพิ่งจะ 30 ต้นๆ ที่สำคัญเป็นอัตราเงินเดือนในยุคที่ก๋วยเตี๋ยวราคาชามละ 2 บาทเท่านั้น จากนั้นเขาก็ผันตัวมาทำธุรกิจของตัวเอง เริ่มจากร่วมกับเพื่อนทำค่ายเพลง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก

       
       แต่เมื่อยักษ์ใหญ่อย่างอาร์เอสและแกรมมี่เข้ามาตีตลาด สมคิดก็หันไปสร้างธุรกิจใหม่ นั่นคือการปั้นนักพูดและทำทอล์กโชว์ สมคิดได้ปั้นนักพูดชั้นนำขึ้นมาประดับวงการหลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็น พ.อ.นพ.พงศักดิ์ ตั้งคณา นักพูดเรื่องธรรมะที่ทั้งฮาและมีสาระ นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล นักพูดแนวเพศศึกษา ซึ่งสามารถนำเรื่องเพศมาให้ความรู้แบบขบขัน แต่ไม่หยาบคาย รวมทั้งทนายวันชัย สอนศิริ และทนายประมาณ เลืองวัฒนะวณิช ที่นำเอากฎหมายซึ่งเป็นเรื่องยากมา ทำให้เป็นเรื่องตลกสนุกสนาน ได้ทั้งอารมณ์ ขันและความรู้ จัดทอล์กโชว์แต่ละครั้ง คนแห่ซื้อบัตรกันแน่นขนัด ซีดีทอล์กโชว์ที่ทำออกมาก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
       
       “ผมเริ่มทำทอล์กโชว์ประมาณปี 2540 เป็นช่วงที่ฟองสบู่เริ่มแตก คนกำลังเครียดกันมาก เขาก็ต้องการความสุขจากเสียงหัวเราะ เพราะอารมณ์ขันในชีวิตมันหายาก ดังนั้น ถ้าใครพูดให้คนขำได้ก็จะได้ตังค์ คือผมไม่ได้เรียนเรื่องการพูดมานะ แต่ผมศึกษาจากตำรา ผมอ่านหนังสือของ เดล คาร์เนกี้ แล้วก็เอามาย่อยเป็นโมเดลว่า คนที่เป็นนักพูดทอล์กโชว์จะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง เราก็ดูว่าคนนี้มีกี่อย่างแล้ว ขาดอะไร เราก็เติมส่วนที่ขาดอะไรที่ดีอยู่แล้วก็ทำให้มันเด่นขึ้น ผมปั้น 3 คน ดังระดับประเทศหมดเลย ทั้งบัตรทอล์กโชว์ ทั้งซีดี ขายเกลี้ยง เพราะฉะนั้นที่เราตั้งเป้าไว้จะมีเงิน 10 ล้าน มันก็ได้เกินกว่าเป้าหมายไปเยอะ” สมคิดเล่าถึงความสำเร็จในธุรกิจทอล์กโชว์
       

       • หมดตัวชั่วข้ามคืน
       
       แต่หายนะก็มาเยือนชายหนุ่มอีกครั้ง หลังจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ทอล์คโชว์ ‘ผู้หญิงเหล็ก’ เจ๊งไม่เป็นท่า บัตรขายไม่ได้ ซีดีที่ผลิตไว้ก็กลายเป็นเศษขยะ ทำให้สมคิดหมดตัวภายในชั่วข้ามคืน แต่ที่ทำให้เขาเสียใจและอับอายที่สุดคือ ไม่สามารถคืนเงินที่หยิบยืมจากผู้หลักผู้ใหญ่มาได้ตามกำหนดเวลาที่สัญญาไว้ ชื่อเสียงและเครดิตที่สั่งสมมาหลายสิบปี ต้องย่อยยับ เขาและภรรยาตัดสินใจขายสมบัติทุกชิ้น เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ ต้องออกจากบ้านก่อน 6 โมงเช้าเพราะกลัวเจ้าหนี้จะมาดักรอ เรียกว่าเป็นชีวิตที่ตกต่ำที่สุด
       

       “ตอนนั้นที่เสียใจที่สุด ไม่ใช่เพราะหมดตัวนะ แต่เสียใจที่ไม่สามารถรักษาคำพูดได้ ทำให้ผู้ใหญ่ที่ช่วยเหลือเราเดือดร้อนไปด้วย เพราะตลอดหลายสิบปี ที่ผ่านมา ผมไม่เคยเสียคำพูด ตอนนั้น อะไรขายได้ขายหมด เพื่อเอาเงินมาทยอยใช้หนี้ ไม่มีแม้กระทั่งเงินซื้อข้าวกิน ต้องออกจากบ้านทุกวันเพื่อหนีเจ้าหนี้ บางวันเหลือเงินติดตัวแค่ 6 บาท ไม่พอค่ารถเมล์สองคน
       
       แต่เราก็คงพอมีบุญอยู่บ้าง ระหว่างที่ผมรื้อค้นข้าวของ ว่าพอจะเอาอะไรไปขายได้บ้าง ก็มาเจอสคริปทอล์กโชว์ของ นพ.พงศักดิ์ที่ผมเขียนไว้ มานั่งอ่านดูเออ.. มันตลกนะ น่าจะทำเป็นหนังสือขายได้ ผมก็ไปคุยกับเจ้าของสำนักพิมพ์ดอกหญ้า เสนอต้นฉบับให้เขาพิมพ์พ็อกเก็ตบุค เขาก็มองว่า เรื่องธรรมะขายยาก ใครจะซื้อ เอางี้แล้วกัน..เขาจะช่วยซื้อต้นฉบับในราคา 50,000 บาท
       
       ผมบอกว่า เงินแค่นี้ไม่พอใช้หนี้หรอก ผมขอส่วนแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วกัน และผมเชื่อว่ามันขายได้ อย่างน้อยๆก็ 20,000 เล่ม เขาหัวเราะเลย บอกปกติหนังสือแต่ละเล่ม ใช้เวลาขาย 1 ปี ได้สัก 30,000 เล่มก็สุดยอดแล้ว ถ้าเกิดผมอยากพิมพ์ก็ต้องลงทุนเอง เดี๋ยวเขาจะคุยกับญาติที่เป็นเจ้าของโรงพิมพ์ให้ช่วยพิมพ์ แล้วก็ช่วยการันตีกับบริษัทขายกระดาษให้ผมพิมพ์หนังสือไปก่อน ขายได้แล้วค่อยเอาเงินมาคืน ปรากฏว่า ขายได้ถึง 50,000 เล่ม ผมใช้หนี้ได้หมด ซึ่งนับเป็นการพลิกชีวิตครั้งใหญ่เลยทีเดียว” สมคิดเล่าด้วยความภาคภูมิใจ
       
       • ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง
       
       ครั้งนี้นอกจากสมคิดจะฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่งแล้ว ยังถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับแวดวงหนังสืออีกด้วย เพราะสมคิดเป็นคนแรกของเมืองไทย ที่สามารถทำให้หนังสือธรรมะซึ่งเป็นเรื่องน่าเบื่อในสายตาคนส่วนใหญ่ ให้กลายเป็นหนังสือขายดีระดับเบสท์เซลเลอร์!!
       
       แม้จะไม่ได้จบด้านนิเทศศาสตร์หรืออักษรศาสตร์ แต่อดีตนักเรียนช่างกลไฟฟ้าอย่างสมคิด กลับประสบความสำเร็จ ในอาชีพนักเขียนอย่างที่ใครก็คาดไมถึง เขาสร้างปรากฏการณ์ที่เหลือเชื่อให้กับแวดวงน้ำหมึกด้วยยอดขายที่ถล่มทลาย หนังสือ 31 เล่มจากปลายปากกาของสมคิด ติดเบสท์เซลเลอร์เกือบทุกเล่ม บางเล่มขายได้ถึง 4-5 แสนเล่ม ยอดขายรวมกว่า 300 ล้านบาท อีกทั้งเขายังเป็นทั้งนักเขียน เจ้าของสำนักพิมพ์ และเป็นปรมาจารย์ปั้นนักเขียน ที่ไม่ได้สอนแค่วิธีการสร้างงานเขียนให้โดนใจและขายได้ แต่ยังสอนกลยุทธ์การตลาดที่จะทำให้หนังสือโดดเด่น และยอดขายถล่มทลายเช่นเดียวกับหนังสือของเขา ปัจจุบันสมคิดมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย และเขาเองก็เต็มใจให้ความ รู้อย่างไม่หวงวิชา
       
       สมคิดเฉลยถึงเคล็ดลับแห่งความสำเร็จครั้งนี้ว่า เนื่องจากเขามี ‘ความคิด’ ที่ว่าทำอะไรต้องรู้จริง เขาจึงศึกษาเรื่องงานเขียนและธุรกิจสิ่งพิมพ์อย่างจริงจัง ทำให้สามารถจับตลาดคนอ่านได้ถูกจุด เพราะหนังสือที่จะขายได้และขายดีนั้น ไม่ใช่แค่อ่านสนุกเท่านั้น แต่ต้องเป็นเรื่องที่ ‘โดนใจ’ และคนอ่านรู้สึกว่าได้ประโยชน์ด้วย ขณะที่การตลาดก็เป็นเรื่องสำคัญ จะวางตลาดที่ไหน จะเจรจากับผู้จัดจำหน่ายอย่างไร มีช่องทางไหนที่จะประชาสัมพันธ์หนังสือได้บ้าง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องศึกษา และบางอย่างก็ไม่มีในตำรา ต้องนำมาประยุกต์ใช้เอง
       
       • พลิกครั้งสุดท้าย
       พลิกใจให้ธรรมะ

       
       แม้จะประสบความสำเร็จทางธุรกิจ มีทั้งชื่อเสียง เงินทอง กลายเป็นคนดังและเป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ที่ฝันอยากจะประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ก็ใช่ว่าชีวิตของสมคิดจะไม่ ‘พลิก’ อีก แต่ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการพลิกด้านการดำเนินชีวิต ที่มุ่งมั่นแต่จะประสบความสำเร็จด้านฐานะ ชื่อเสียง หน้าที่การงาน ครั้งนี้เขาพลิกกลับมา เป็นคนที่ใฝ่หาความสงบและอิ่มเอมจากการปฏิบัติธรรม ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มีความสุขจากการให้และแบ่งปัน
       
       “คือผมมีปมด้อย เด็กๆยากจนมาก เราก็ตั้งเป้าว่าอยากจะมีบ้านหลังใหญ่ มีรถคันโตๆ อยากไปเที่ยวต่างประเทศ ตอนนี้เราได้หมดแล้ว ได้มากกว่าที่หวังไว้ด้วย มาถึงวันนี้ความคิดมันเปลี่ยน มันเริ่มอิ่ม ถึงปัจจุบันยังต้องทำงานส่งลูกเรียนอยู่ แต่อีกมุมหนึ่งเราก็เริ่มหาความสุขจากการปฏิบัติธรรม
       
       ผมอยากทำให้คนหันมาสนใจธรรมะกันมากขึ้น โดยใช้หนังสือของเราเป็นสื่อ คือถ้าเราสื่อคำสอนออกมาได้น่าสนใจ มีตัวอย่างที่สนุกสนาน อ่านแล้วเขาก็ขำ หัวเราะ พอขำเสร็จเราก็สอดแทรกธรรมะ อย่างหนังสือฮาสุดขีด เล่มแรกเป็นเรื่องไตรลักษณ์ ซึ่งคนมองว่าเป็นเรื่องยาก เราก็มาย่อยให้อ่านสนุก ตอนนี้นอกจากขายแล้วเราก็แจกจ่ายไปตามห้องสมุด สถานศึกษา ปีหนึ่งๆหลายหมื่นเล่ม
       
       ตอนนี้ผมตั้งเป้าหมายไว้ว่า ถ้าอะไรทุกอย่างลงตัวหมดแล้ว ผมจะเลิกทำธุรกิจ ไปอยู่อาศรม คือจะไปสร้างบ้านหลังเล็กๆ อยู่ต่างจังหวัด อยู่สงบๆ ปฏิบัติธรรม เขียนหนังสือถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนรุ่นหลัง เพราะผมมองว่า ไม่มีหนทางไหนที่จะให้ความสุขแก่เรา ได้มากไปกว่าการ "ก้าวไปสู่ความดี โดยไม่ถอยหลังกลับ” สมคิดกล่าวตบท้ายถึงเป้าหมายในบั้นปลายชีวิต

       
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 134 กุมภาพันธ์ 2555 โดย จินตปาฏิ) 


บทเสริม : 
"ก้าวไปสู่ความดี โดยไม่ถอยหลังกลับ”
(เป้าหมายที่ Giving Forward ณ ปัจจุบัน ก่อนไปสู่การพลิกชีวิตครั้งสุดท้าย) คลิกอ่าน





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น